วันที่ 7 – 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา เด็กชายณัฐรัชน์ วงศ์เบญจทรัพย์(กรณ์) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้เข้าร่วม Future Problem Solving Program International Conference 2023 จัดขึ้นที่ University of Massachusetts, Amherst สหรัฐอเมริกา โดยเป็นตัวแทนเยาวชนไทยเข้าแข่งขัน Global Issues Problem Solving, Middle Division ประเภทบุคคล
ซึ่งเป็นการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดในเวลา 20 ปีข้างหน้า ในปีนี้หัวข้อที่ผู้ร่วมกิจกรรมศึกษาเพื่อคิดวิธีแก้ไข ได้แก่ Currency
กรณ์เดินทางพร้อมกับคณะของผู้อำนวยการโครงการ FPS ประเทศไทย และคณะของ รร.วชิราวุธวิทยาลัยซึ่งมีน้องๆ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และอาจารย์รวมทั้งหมด 8 ท่าน
โดยออกเดินทางในวันอาทิตย์ ที่ 4 มิถุนายน ถึงเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกาในวันเดียวกัน ขณะพักที่บอสตัน 3 วัน ได้มีโอกาสเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ เช่น
– โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น (Mount Auburn Hospital) ที่เมืองเคมบริดจ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470
– จัตุรัสภูมิพลอดุลยเดช หรือ King Bhumibol Adulyadej of Thailand Square ซึ่งมีแท่นจารึกที่ระลึกถึง
ในหลวงรัชกาลที่เก้า ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในโลกที่มีประสูติกาลที่เมือง Boston ประเทศสหรัฐอเมริกา
– มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สองมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของโลกที่มีอายุยืนยาวนานมานับร้อยๆ ปี และ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ เป็นมหาวิทยาลัยในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ที่มีชื่อเสียงมานานในเรื่องงานวิจัยและการศึกษาในสาขาเคมี ฟิสิกส์ และวิศวกรรมศาสตร์สาขาต่างๆ
– พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งเมืองบอสตัน ซึ่งจัดแสดงให้ความรู้หลากหลายเรื่องราวที่น่าสนใจโดยเป็นเรื่องราวตั้งแต่ยุคการกำเนิดของโลกจนความรู้ทางอวกาศ ผู้เข้าชมสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการลงมือทำด้วยตนเอง
– Boston Public Garden สวนสาธารณะที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของบอสตัน
– ควินซี มาร์เก็ต (Quincy Market, Boston) ตลาดอายุใกล้จะสองร้อยปี ใจกลางย่านดาวน์ทาวน์เมืองบอสตัน อยู่ในอาคารโบราณรูปแบบยุคโรมัน มีของที่ระลึก ร้านอาหาร มากมาย เป็นตลาดที่มีนักท่องเที่ยวและชาวเมืองบอสตันไปเยือนตลอดเวลา
– Boston Tea Party สถานที่สำคัญ ในประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐอเมริกา โดยเป็นการจัดการประท้วงของกลุ่ม Son of Liberty เพื่อต่อต้านการเก็บภาษีใบชาของอังกฤษโดยคนกลุ่มทั้งกล่าวจำนวนหนึ่งปลอมตัวเป็นชาวอเมริกันพื้นเมืองหรืออินเดียแดงขึ้นไปบนเรือของชาวอังกฤษที่จอดอยู่ที่บอสตัน และนำใบชาทั้งหมด 342 ลัง ที่บริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company) ส่งมา ทิ้งลงในทะเลทั้งหมด เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่นำสู่สงครามปฏิวัติอเมริกาใน ค.ศ.1775 ก่อนที่จะมีการประกาศอิสรภาพ ในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1776
จากนั้น ในวันพุธ ที่ 7 มิถุนายน กรณ์ได้เดินทางจากเมืองบอสตันไปยังมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ เมืองแอมเฮิร์สต์ (UMass Amherst) เพื่อเข้าร่วม FPSP IC2023 ทั้งนี้ ในพิธีเปิดการประชุม กรณ์ได้ทำหน้าที่ตัวแทน Future Problem Solving Program Thailand นำธงชาติไทยขึ้นบนเวที
ปีนี้นับเป็นปีที่ 5 ที่กรณ์อยู่ในกิจกรรม FPSP ของ รร.ประสาทวิทยานนทบุรี ได้เข้าร่วม International Conference เป็นครั้งที่ 4 โดยในสามครั้งแรกเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จึงเป็นการร่วมกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์ ครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในสถานที่แข่งขันจริง นอกจากการร่วมการแข่งขัน GIPS ประเภทบุคคลในปีนี้ กรณ์ยังช่วยให้คำแนะนำน้องๆ จาก รร.วชิราวุธวิทยาลัยที่ร่วมแข่งขัน GIPS ประเภททีมในเรื่องการเตรียมตัวนำเสนอแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาในรูปแบบการแสดงอีกด้วย
รูปแบบกิจกรรม/การแข่งขันในการประชุมนานาชาติยังประกอบด้วยการนำเสนอโครงการแก้ปัญหาชุมชน (Community Problem Solving: CmPS) ทั้งประเภททีมและบุคคลซึ่งเป็นตัวแทนชนะเลิศของประเทศ/รัฐในสหรัฐอเมริกาที่เข้าร่วมกิจกรรมรวมกว่า 50 โครงการ, การแข่งขันการเขียนบทความการคาดการณ์อนาคต (Scenario Writing: ScW) และ การแข่งขันการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านการเล่าเรื่อง (ScP) ซึ่งนอกจากประสบการณ์อันมีคุณค่ากับตัวเองก็จะถ่ายทอดให้เป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ หรือน้องๆ ที่สนใจต่อไป
ขอบพระคุณภาพประกอบจากคุณครูวชิราวุธวิทยาลัย ได้แก่
– คุณครูปรีชาพล สมานหมู่ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรม
– รศ.พัชรี วรจรัสรังสี ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ
– ดร.ธนาวิชญ์ จินดาประดิษฐ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ
– คุณครูปฐวีฐ์ นาควิจิตรพงศ์ ผู้อำนวยการ FPSP Thailand